เยียวยานายจ้าง - ลูกจ้าง - ร้านอาหาร 1 เดือน สูงสุดคนละ 3,000 บาท

เยียวยานายจ้าง - ลูกจ้าง - ร้านอาหาร 1 เดือน สูงสุดคนละ 3,000 บาท

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. ว่า วันนี้ต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เดือดร้อน ขณะนี้เกิดจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด 19 จึงต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มคลัสเตอร์แรงงาน ซึ่งมีผลกระทบใน 6 จังหวัด ที่ประกาศออกไป ตามประกาศคำสั่งฉบับที่ 25 เพราะฉะนั้นต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน และจะเยียวยาไปยังจุดอื่น เพื่อให้เกิดความทั่วถึงในหลาย ๆ กิจกรรม เป็นแนวทางเดียวกับที่เคยทำมาแล้ว ทั้งนี้ มีงบประมาณที่เตรียมไว้แล้ว 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบจากรัฐบาลประมาณ 4,000 ล้านบาท และประกันสังคมอีก 3,500 ล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชนให้กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศ ศบค. ฉบับล่าสุด ได้แก่กลุ่มแรงงาน 3 หมวด ประกอบด้วย เรื่องของการก่อสร้างที่พักแรม บริการด้านอาหาร สถานบันเทิง และนันทนาการ ใน 6 จังหวัด คือ กทม., นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

โดยรัฐบาลมีมติจะเยียวยาเป็นระยะเวลา 1 เดือน มีรายละเอียดดังนี้…

- จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับลูกจ้าง ในระบบประกันสังคม ประมาณ 2,000 บาทต่อคน

- จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับนายจ้าง ในระบบประกันสังคมตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 200 คน

- สำหรับแรงงาน หรือผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบประกันสังคม แต่ต้องการการช่วยเหลือ ต้องลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม ก็จะได้รับเงินเยียวยา โดยนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ส่วนลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับ 2,000 บาท

- สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ เพราะว่าไม่มีลูกจ้าง สามารถลงทะเบียนเข้าสู่แอปพลิเคชันถุงเงิน ภายใต้โครงการคนละครึ่ง ภายใน 1 เดือนนี้ โดยจะให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปช่วยตรวจสอบว่าเป็นผู้ประกอบการด้านร้านอาหารและเครื่องดื่ม ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทเช่นเดียวกัน

ล่าสุด มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว เป็นระยะเวลา 1 เดือน คาดมีผู้ได้รับผลกระทบ 6.97 แสนคน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ