1 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก สดร. เผย ปี 2020 โลกหมุนเร็วที่สุดในรอบกว่า 50 ปี

1 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก สดร. เผย ปี 2020 โลกหมุนเร็วที่สุดในรอบกว่า 50 ปี

วันที่ 26 มกราคม 2564 เพจเฟซบุ๊กชื่อ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เผยข้อมูล ขณะนี้โลกกำลังหมุนเร็วขึ้น โดยมีรายละเอียดว่า เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 กำลังผ่านพ้นไป หลายคนคงรู้สึกว่าเดือนมกราคม หรือกระทั่งแต่ละเดือนนับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2563 นั้นดูจะยาวนานกว่าปกติเนื่องจากสถานการณ์ cv อันหนักหน่วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วระยะเวลาหนึ่งวันบนโลกนั้นสั้นลง เพราะดาวเคราะห์อันเป็นที่อยู่อาศัยของเรานี้กำลังหมุนเร็วขึ้น [Peter Whibberley, NPL in The Telegraph]

ปกติแล้ว การหมุนรอบตัวเองของโลกหนึ่งรอบหรือระยะเวลาหนึ่งวัน อยู่ที่ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่อัตราการหมุนของโลกจะค่อย ๆ ช้าลงเรื่อย ๆ เนื่องด้วยแรงเสียดทานการหมุนจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงอันเนื่องมาจากดวงจันทร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของของเหลวรอบแกนโลก

ในปัจจุบัน ระยะเวลาหนึ่งวันของเรานั้นยาวนานกว่าเมื่อทศวรรษที่แล้วราว ๆ 0.0017 วินาที เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาสากล (Coordinated Universal Time) หรือ UTC ที่ทั้งโลกใช้เป็นหลักในการตั้งเวลาจะถูกปรับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการหมุนรอบตัวเองของโลก

การปรับเวลาดังกล่าวทำได้โดยการเพิ่มอธิกวินาที (Leap second) ในวินาทีสุดท้ายของเดือนมิถุนายน หรือเดือนธันวาคม หากตามติด ณ วินาทีนั้น จะสามารถเห็นตัวเลขบนหน้าปัดดิจิทัลของนาฬิกาสากล หลังจาก 23:59:59 เป็น 23:59:60 แทนที่จะเป็น 00:00:00 การเติมเวลานี้เกิดขึ้นทุกหนึ่งปีครึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

ครั้งล่าสุดที่อธิกวินาทีถูกเพิ่มเข้าไปในเวลาสากลคือเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 วินาทีสิ้นปีนั่นเอง [IERS Bulletin C (leap second announcements)]

อย่างไรก็ตาม นักมาตรวิทยาเวลาพบว่าในปี พ.ศ. 2563 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น มีจำนวนวันที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดถึง 28 วัน จากสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 จึงมีการพิจารณาที่จะลดอธิกวินาทีลง พวกเขาอาจจะทำการลบเวลา ทั้งนี้ การลบเวลาจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลก ว่าจะเร่งเร็วขึ้นต่อเนื่องไปเช่นนี้อีกนานเพียงใด

การปรับเวลาสากลด้วยอธิกวินาทีนั้น นอกจากจะทำให้เวลาของโลกเที่ยงตรงกับเวลาของระบบสุริยะ ให้เราเห็นการขึ้นตกของดวงอาทิตย์เป็นไปตามเวลาเช้า-เย็นของมนุษย์แล้ว ยังมีความสำคัญกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมการทำงานทุกพื้นที่ในโลก ซึ่งอ้างอิงข้อมูลเวลาทั้งจากเวลาสากล และสัญญาณดาวเทียม (GPS, GLONASS, Galileo, BeiDu)

เวลาของระบบเหล่านี้ มีอธิกวินาทีเป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะต้องรักษาความถูกต้องอยู่เสมอ เพราะเพียงวินาทีเดียว อาจก่อเกิดข้อผิดพลาดระหว่างการรับส่งข้อมูลทำให้การซื้อขายหุ้นหรือการดำเนินธุรกรรมทางการเงินผิดพลาด ไปจนถึงเกิดโศกนาฏกรรมทางอากาศ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถคำนวณระดับความสูงการบินที่ถูกต้องได้!

การวัดระยะเวลาการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำได้โดยวัดระยะเวลาวงโคจรของดาวเทียม แล้วคำนวณกลับเป็นเวลาที่โลกใช้หมุนรอบตัวเอง แต่ผลที่ได้อาจแฝงความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนที่ของจุดศูนย์กลางโลก (Geocentre motion) ที่ดาวเทียมใช้เป็นจุดศูนย์กลางวงโคจร และแรงดึงดูดของวัตถุท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของโลก อาทิ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ใกล้เคียง และดวงอาทิตย์ เป็นต้น

อีกเทคนิคหนึ่งที่มีความแม่นยำกว่าในการวัดระยะเวลาการหมุนรอบตัวเองของโลก ก็คือเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometry) ยีออเดซี หรือ VLBI ยีออเดซี วิธีการคือ ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุสองตัวขึ้นไปรับสัญญาณจากวัตถุท้องฟ้าเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน การใช้วัตถุท้องฟ้าที่อยู่ห่างไกลหลายล้านปีแสงเป็นวัตถุอ้างอิงของการวัดนั้นอยู่ จะทำให้ได้ผลลัพท์ที่มีความแม่นยำสูง เหตุเพราะระยะเชิงมุมของเทหวัตถุดังกล่าวจะมีขนาดเล็ก จึงมีความคลาดเคลื่อนน้อยมาก และยังปราศจากผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของโลกหรือวัตถุท้องฟ้าโดยรอบ แตกต่างจากดาวเทียมซึ่งอยู่ในวงโคจรของโลก

ขณะนี้ประเทศไทย กำลังสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติขนาด 40 เมตร และกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส (VLBI Geodetic Observing System: VGOS) ขนาด 13 เมตร ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะร่วมสังเกตการณ์ในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล (VLBI) สากล ถือเป็นสถานีแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นตำแหน่งสำคัญของเครือข่ายเนื่องจากอยู่ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายฯ ระหว่างสถานีซีกโลกเหนือและใต้ เพิ่มประสิทธิภาพในการสังเกตการณ์ของทั้งเครือข่ายฯ ให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความเป็นไปของเวลาสากล การเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงการค้นพบสิ่งต่าง ๆ ในเอกภพต่อไป ข้อมูลและเรียบเรียง : ณัฏฐพร ทูลแสงงาม - วิศวกรด้าน Geodesy สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โพสต์ดังกล่าว

เรียบเรียง siamweek

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ